ประกาศราชกิจจาฯ ระเบียบเปิด-ปิดสถานศึกษาเอกชน ให้เหมาะสมกับเหตุพิเศษ

Loading…


ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษาเอกชน พ.ศ. 2563 ความว่า โดยที่เห็นสมควรกำหนดระเบียบว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษาเอกชนให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน




อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 (6) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ประกอบกับข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษาเอกชน พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้

“กรณีพิเศษ” หมายความว่า กรณีจำเป็นต้องใช้สถานศึกษาเพื่อประชุม สัมมนา ฝึกอบรม จัดสอบ พักแรม จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรหรือกิจกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจเปิดเรียนได้ตามปกติ

“เหตุพิเศษ” หมายถึง สาธารณภัยอันมีผลต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

“ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือบุคคลที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมอบหมาย




“สถานศึกษาเอกชน” หมายความว่า โรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

“หัวหน้าสถานศึกษา” หมายความว่า ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกันของสถานศึกษาเอกชน

“นักเรียนและนักศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งกำลังรับการศึกษาอยู่ในสถานศึกษาเอกชน

ข้อ 4 ในรอบปีการศึกษาหนึ่งวันเริ่มต้นปีการศึกษาของสถานศึกษาเอกชน คือวันที่ 16 พฤษภาคม และวันสิ้นปีการศึกษา คือวันที่ 15 พฤษภาคม ของปีถัดไป

ข้อ 5 ให้สถานศึกษาเอกชนเปิดและปิดภาคเรียนตามปกติในรอบปีการศึกษาหนึ่งตามที่ กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

(1) ภาคเรียนที่หนึ่ง วันเปิดภาคเรียน วันที่ 16 พฤษภาคม วันปิดภาคเรียน วันที่ 11 ตุลาคม

(2) ภาคเรียนที่สอง วันเปิดภาคเรียน วันที่ 1 พฤศจิกายน วันปิดภาคเรียน วันที่ 1 เมษายน ของปีถัดไป

สถานศึกษาเอกชนใดประสงค์จะเปิดและปิดภาคเรียนแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้เสนอขออนุญาตต่อผู้อนุญาต




ข้อ 6 ผู้มีอำนาจสั่งปิดสถานศึกษาเอกชนเป็นกรณีพิเศษ คือ

(1) หัวหน้าสถานศึกษา สั่งปิดได้คราวละไม่เกินเจ็ดวัน

(2) ผู้อนุญาต สั่งปิดได้คราวละไม่เกินสิบห้าวัน

(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

เมื่อได้สั่งปิดสถานศึกษาไปแล้ว สถานศึกษาต้องทำการสอนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่ปิดนั้น

ข้อ 7 การปิดสถานศึกษาเอกชนเนื่องจากเหตุพิเศษ ให้สั่งปิดสถานศึกษาเอกชนชั่วคราว เพื่อระงับเหตุหรือเพื่อป้องกันภยันตรายอันอาจจะเกิดขึ้น โดยให้ปฏิบัติดังนี้

(1) หัวหน้าสถานศึกษา สั่งปิดได้คราวละไม่เกินสิบห้าวัน

(2) ผู้อนุญาต สั่งปิดได้คราวละไม่เกินสามสิบวัน

(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งปิดได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

เมื่อได้สั่งปิดสถานศึกษาเอกชนไปแล้ว สถานศึกษาเอกชนต้องทำการสอนชดเชยให้ครบตามจำนวนวันที่ปิดนั้น

ข้อ 8 เมื่อผู้มีอำนาจตามข้อ 6 และข้อ 7 ได้สั่งปิดสถานศึกษาไปแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่สงบหรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดต่อไปอีก ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจตามข้อ 6 หรือข้อ 7 แล้วแต่กรณี




ข้อ 9 ในระหว่างปิดสถานศึกษาเอกชนเป็นกรณีพิเศษตามข้อ 6 หรือในระหว่างปิดสถานศึกษาเอกชนเนื่องจากเหตุพิเศษตามข้อ 7 หัวหน้าสถานศึกษาอาจสั่งให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ประจำสถานศึกษานั้นๆ มาปฏิบัติงานตามปกติ หรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายก็ได้

ข้อ 10 การสั่งปิดสถานศึกษาเอกชนให้ทำคำสั่งเป็นหนังสือ เว้นแต่การสั่งด้วยวาจา หรือการสั่งโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่น เมื่อผู้มีอำนาจได้สั่งปิดสถานศึกษาเอกชนแล้ว ให้ทำคำสั่งเป็นหนังสือภายในสามวันทำการนับแต่วันที่สั่งการด้วยวาจาหรือสั่งโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่น

ในกรณีที่สถานศึกษาเอกชนสั่งปิดตามข้อ 6 (1) หรือข้อ 7 (1) แล้ว ให้จัดส่งคำสั่งให้ผู้อนุญาตทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันสั่งปิด




ข้อ 11 ให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน




ขอขอบคุฌทีมาจาก: thaihitz.com

Facebook Comments